ผ้ากันไฟแยกตามอุณหภูมิ

  • ผ้ากันความร้อนแยกตามอุณหภูมิ

สินค้าทนความร้อน มีให้เลือกมากมายหลายชนิด ตั้งแต่เทปพันกันความร้อน ผ้ากันไฟ ผ้ากันความร้อน ฉนวนกันความร้อน ท่อร้อยสายไฟ ไปจนถึงผลิตภัณฑ์กันความร้อนที่ใช้อุปกรณ์ความปลอดภัยส่วนบุคคล สำหรับเครื่องหมายการค้าของเรานั้นจะถูกแยกประเภทไว้ดังนี้

ผ้ากันไฟ ที่อุณหภูมิ ไม่เกิน 350°C

• Hakamid®, Hakanit®

เป็นสินค้าที่ผลิตหรือทอขึ้นมาจากเส้นใยอรามิด หรือถักทอร่วมกับเส้นใยอื่นได้ๆตามความต้องการและวัตถุประสงค์การใช้งานของลูกค้า ส่วนใหญ่ใช้กับอุณหภูมิไม่เกิน 350°C

• ประเภทของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟที่อุณหภูมิต่ำ ขนาดนี้ส่วนใหญ่จะเป็น ผ้าใยแก้วชนิด E-Glass หรือหากลดต้นทุนลงมาอีก บางโรงงานผู้ตัดเย็บก็อาจจะใช้ C-Glass จำหน่ายให้กับลูกค้า เพราะราคาของ C จะถูกกว่า E พอสมควรเนื่องจากมีความแข็งแรงน้อยกว่า และถูกออกแบบมาเพื่อใช้งาน FRP (Fibeglass Reinforced Plastic) มากกว่างานในลักษณะผ้ากันสะเก็ดไฟเชื่อม นอกจากผ้าใยแก้วแล้ว ก็ยังมีผ้า Tarpaulin หรือนิยมเรียกกันสั้นๆว่า “ผ้าทาร์พ” ซึ่งผ้าชนิดนี้จะมีส่วนผสมของพลาสติคชนิดโพลีเอทีลีน จึงมีลักษณะใสหรือมองทะลุผ่านได้ ผ้าทาร์พจะมีราคาสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับความหนาและอัตราส่วนผสมของสารกันไฟลาม ผ้าชนิดสุดท้ายที่มีลูกค้าบางกลุ่มเลือกใช้คือผ้าอรามิดที่มีน้ำหนักเบาแต่มีราคาสูงมาก จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมในวงกว้างสำหรับผ้ากันไฟงานเจียรตัด

• ขนาดของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟสำหรับอุณหภูมิไม่เกิน 350 °C ส่วนใหญ่จะใช้เพื่องานป้องกันประกายไฟจากการเจียรเหล็ก ซึ่งจะอยู่ในลักษณะการขึงเป็นม่านที่ประกอบเข้ากับแผ่นเฟรม (เคลื่อนย้ายได้สะดวก) หรือเป็นผืนแล้วนำไปคลุมวัตถุหรือสิ่งของที่ไม่ต้องการให้โดนประกายไฟ สำหรับขนาดตัดเย็บแล้วของผ้ากันไฟในกลุ่มนี้ จะมีขนาดต่อผืนที่ไม่หลากหลาย ส่วนใหญ่จะอยู่ที่ 1x1M 1x2M และ 2x2M อาจจะมีสเป็คพิเศษตามที่ลูกค้าสั่งอยู่บ้างแต่ก็จะมีขนาดไม่เกิน 2x3M เพราะหากผืนใหญ่กว่านี้ ผ้าจะเริ่มมีน้ำหนักมากและส่งผลให้เกิดความไม่สะดวกแก่ผู้ใช้งาน

• สีของผ้ากันไฟ

สีของผ้ากันไฟ ในกลุ่มนี้ผ้ากันไฟส่วนใหญ่จะเป็นสีขาวเพราะทำมาจากผ้าใยแก้วแบบไม่เคลือบ แต่หากเป็นผ้าทาร์พก็จะมีทั้งสีใส สีเหลือง สีฟ้า และสีแดงให้เลือก ส่วนผ้าอรามิดนั้นจะออกสีเหลืองถึงสีน้ำตาลอ่อน แล้วแต่แหล่งที่นำเข้าหรือแหล่งของโรงงานผู้ผลิต

• ราคาของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในอุณหภูมิระดับนี้จะมีราคาถูกที่สุด เมื่อตัดผ้าอรามิดและผ้าทาร์พออกไป ราคาต่อผืนอยู่ระดับหลักร้อยบาทต่อหนึ่งตารางเมตร และเป็นผ้ากันไฟที่มีราคาถูกที่สุดในบรรดาผ้ากันไฟที่แยกตามอุณหภูมิการใช้งาน ส่วนใหญ่เมื่อเสร็จงานผ้าก็จะหมดสภาพ (ขาด ทะลุ) ผ้ากันไฟในกลุ่มนี้จึงนับเป็นวัสดุสิ้นเปลืองในการทำงานอย่างหนึ่ง



ผ้ากันไฟ ที่อุณหภูมิ ไม่เกิน 550°C

• Thermo E-Glass

สินค้าทนความร้อนในหมวดนี้จะทอขึ้นมาจากเส้นใยแก้วชนิด E-Glass ซึ่งมีคุณสมบัติในการต้านทานกระแสไฟฟ้า มีราคาไม่สูง
ใช้งานได้หลากหลายที่อุณหภูมิต่อเนื่องไม่เกิน 550°C

• ประเภทของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในกลุ่ม 550 °C ถือเป็นผ้ากันไฟที่นิยมใช้กันแพร่หลายมากที่สุดในตลาดเมืองไทย เพราะเป็นผ้าที่ทนความร้อนจากสะเก็ดเชื่อม (spatter)ได้ระดับกลางที่ครอบคลุมทั้งงานเชื่อมจากที่สูง งานเป่าเหล็กตัดเหล็กที่มีระยะห่างมากกว่า 2 เมตร งานผ้าคลุมเครื่องจักรแบบชั่วคราว เป็นต้น ส่วนใหญ่ที่นำมาใช้งานจะเป็นผ้าใยแก้วชนิด E-Glass ที่ผ่านกรรมวิธี heat treated เพื่อให้ผ้าทนความร้อนได้ดีขึ้นกว่าผ้าธรรมดา และลดต้นทุนผ้าโดยไม่ต้องเคลือบสารกันน้ำหรือสารอย่างอื่น ลายทอของผ้าที่นิยมก็จะมีทั้งลายซาตินและลายเพลน ผ้าในกลุ่มนี้จะมีน้ำหนักผ้าต่อตารางเมตร สูงกว่าผ้ากันไฟในกลุ่ม 350 °C เพราะมีความหนาเฉลี่ยที่ประมาณ 1.00mm และน้ำหนักทั่วไปอยู่ที่ 700-1000 กรัมต่อตารางเมตร หน้ากว้างส่วนใหญ่คือ 1.00-1.50M

• ขนาดของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟสำหรับอุณหภูมิไม่เกิน 550 °C ส่วนใหญ่จะใช้ในการป้องกันสะเก็ดไฟเชื่อมอย่างแท้จริง จึงมีขนาดมาตรฐานที่ลูกค้านิยมใช้ตั้งแต่ 1x2M 2x2M 2x3M 3x5M และ 5x10M และมีขนาดพิเศษตามเงื่อนไขการใช้งานจริงตามแต่ละประเภทงานคือ 5x20M และ 10x30M ผ้ากันไฟในกลุ่มนี้ทางผู้ใช้จะมีความต้องการให้ผู้ตัดเย็บ พับขอบและเจาะตาไก่ให้พร้อมใช้งานเลย เพื่อสะดวกในการนำไปแขวนยึดในขณะที่ต้องมีการเชื่อม แต่ขนาดผ้ากันไฟผืนใหญ่ก็มีข้อจำกัดในหลายด้าน ทั้งด้านการขนส่ง การจัดเก็บ และการนำมาใช้งานจริง

• สีของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟสำหรับงาน 550 °C จะนิยมใช้ผ้าใยแก้วที่ผ่านกรรมวิธีอบไล่ความชื้นและสารอินทรีย์ (heat treated or HT) ซึ่งภายหลังการอบตัวผ้าจะมีสีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลทอง แต่หากนำผ้าประเภทนี้ไปใช้กับอุณหภูมิที่สูงเกินกว่า 600 °C จุดที่ผ้าโดนสะเก็ดไฟเชื่อมจะเปลี่ยนเป็นสีขาว

• ราคาของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในการใช้งานระดับนี้จะมีราคาปานกลาง หากไม่นับผ้าที่มีการเคลือบหรือผ้าที่ผ่านกรรมวิธีจบผิวแบบพิเศษจากทางโรงงานผู้ผลิต ราคาต่อผืนอยู่ระดับหลักร้อยบาทต่อหนึ่งตารางเมตร และหากซื้อยกม้วนโดยไม่ต้องมีการตัดเย็บก็จะมีราคาต่อตารางเมตรต่ำลงไปอีก


ผ้ากันไฟ ที่อุณหภูมิ ไม่เกิน 750°C

• Hakotherm®-800, Silontex®

ผลิตภัณฑ์กันความร้อน ในหมวดนี้ผลิตจากเส้นใยแคลเซี่ยม-ซิลิเกตที่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางใหญ่กว่า 6 ไมครอน สามารถต้านทานโลหะเหลวร้อนๆได้เป็นอย่างดีที่อุณหภูมิไม่เกิน 750°C

• ประเภทของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในกลุ่ม 750-800 °C มีความต้องการใช้ในประเทศไทยช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อทดแทนผ้ากันไฟที่ทนความร้อนได้ในช่วง 550-600 °C ในขณะที่ผู้ใช้งานไม่ต้องการใช้ผ้ากันสะเก็ดไฟเชื่อมสำหรับงาน 1000-1200 °C ที่มีราคาสูงเกินไป ทางผู้ผลิตผ้ากันความร้อนจึงได้มีการนำผ้าใยแก้วชนิด E-Glass ไปต่อยอดโดยการเปลี่ยนรูปแบบการทอและวิธีการจบผิวใหม่ เพื่อให้ได้ผ้าทนความร้อนสำหรับงานกันสะเก็ดไฟเชื่อมสำหรับงานอุณหภูมิค่อนข้างสูง หรืองานที่มีการเชื่อมมากๆและต้องทนการเสียดสีได้ดีอีกด้วย ผ้ากันไฟที่ได้จากการพัฒนาครั้งนี้จึงเป็นผ้าใยแก้วเสริมลวด V4A ผ้าใยแก้วเคลือบผงเหล็ก G-Tec® และผ้าใยแก้ว Silontex® นับเป็นผ้าที่อยู่ตรงกลางระหว่างผ้าใยแก้วทั่วไปและผ้าซิลิก้าหรือผ้าเซรามิค แต่ทนการเสียดสีได้ดีและมีการหลุดลุ่ยของเส้นใยผ้าน้อยกว่าผ้าซิลิก้าและผ้าเซรามิคมาก

• ขนาดของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในการใช้งานระดับนี้จะมีขนาดผืนที่ต้องการใช้ไม่แน่นอน แต่ขนาดหน้ากว้างมาตรฐานจากโรงงานผู้ผลิตจะเริ่มที่ 1.00M 1.20M 1.50M และ 1.60M ส่วนน้ำหนักผ้าจะอยู่ในช่วงระหว่าง 600-1100 กรัมต่อตารางเมตร กลุ่มผู้ใช้ส่วนใหญ่มักจะซื้อยกม้วน (ม้วนเล็กและม้วนใหญ่) เพื่อนำไปตัดแบ่งใช้เอง เนื่องจากผ้าก้นไฟแบบนี้มักจะมีการเคลือบผิวเพื่อให้ทนต่อการกระชากลากถู หรือไม่ก็ทอร่วมกับลวด 316 สแตนเลส จึงทำให้การตัดแบ่งผ้าตามขนาดที่ต้องการใช้งานเป็นเรื่องง่าย ใยผ้าหลุดลุ่ยยาก นอกจากนี้ยังมีลูกค้าบางกลุ่มนิยมนำไปใช้ในงาน “ท่อลมร้อน” หรือ “fabric expansion joint” ด้วย

• สีของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในหมวดนี้ที่ทาง นิวเทค อินซูเลชั่น นำเข้าจาก HKO Germany จะมีสีน้ำตาล (heat treated) สีเทา (metalized) และสีฟ้า (Silontex®) ด้วยกรรมวิธีการจบผิวผ้าแบบพิเศษทำให้สีของผ้าในกลุ่มนี้ไม่มีให้เลือกมากนัก แต่ก็ไม่ใช่ประเด็นหลักในการเลือกใช้งานจากทางลูกค้า

• ราคาของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในการใช้งานระดับนี้จะอยู่ตรงกลางระหว่างผ้า HT และผ้า HS (High Silica)


ผ้ากันไฟ ที่อุณหภูมิ ไม่เกิน 1,200°C

• Hakotherm®-1200, Silicatherm®

สินค้าในกลุ่มนี้จะถูกผลิตหรือทอขึ้นจากเส้นใยซิลิก้า ซึ่งสามารถทนต่อความร้อนต่อเนื่องได้สูงถึงประมาณ 1,000°C จึงเหมาะสำหรับงาน ผ้าใบกันสะเก็ดไฟ หรือ งานกันความร้อนในโรงหลอมโลหะ

• Silicatex®

เป็นสินค้ากันความร้อนที่ผลิตขึ้นมาจากเส้นใยซิลิก้าที่มีความบริสุทธ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 98.9 (SiO2 content approx.98.9%) ทำให้ทนอุณหภูมิต่อเนื่องได้สูงถึง 1,200°C

• ประเภทของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟสำหรับงานกันสะเก็ดไฟเชื่อม 1000-1200°C จะนิยมใช้เป็นผ้า HS (High Silica) ซึ่งมีส่วนผสมของซิลิก้าระหว่าง 96-98% แต่ข้อเสียของผ้าซิลิก้าคือจะมีการทอแบบ 8-12HS Satin ซึ่งจะได้โครงสร้างผ้าแบบ loose ทำให้ทนต่อการเสียดสีหรือการลากถูได้ไม่ดี ผู้ผลิตจึงนิยมนำผ้าซิลิก้าไปเคลือบเวอร์มิคูไลท์ทั้งสองด้านเพื่อให้ผ้ามีความแข็งขึ้น หลุดลุ่ยเมื่อตัดเย็บน้อยลง และหากทางผู้ใช้ต้องการให้ทนการเสียดสีและทนความร้อนได้ดีขึ้นไปอีก ทางผู้ผลิตก็จะทำการจบผิวแบบ Alufix® (สารกันไฟผสมยางสังเคราะห์) ทั้งแบบหน้าเดียวและแบบสองหน้า ทำให้ได้ผ้ากันไฟจากผ้าซิลิก้าที่เหมาะกับการใช้งานหนัก (Heavy Duty Grade) นอกจากผ้าซิลิก้าแล้ว ยังมีผ้าเซรามิค ที่สามารถใช้ได้กับอุณหภูมิระดับนี้ แต่จุดอ่อนของผ้าเซรามิคคือจะมีส่วนผสมของเส้นใยสังเคราะห์อย่าง PE (Polyester) ผสมอยู่ด้วยทำให้เกิดควันหรือมีการลุกติดไฟได้

• ขนาดของผ้ากันไฟ

เนื่องจากผ้าซิลิก้าจะมีหน้ากว้างอยู่ระหว่าง 0.90-0.96M ผ้ากันไฟที่ทำมาจากเส้นใยแก้วแบบมีส่วนผสมของซิลิก้าสูงจึงมักมีขนาดความกว้างไม่เต็มเมตร เช่นขนาด 0.9×2.0M 1.8×3.0M 1.8×4.0M และ 1.8×5.0M ส่วนผ้าเซรามิคจะมีขนาดหน้ากว้างเริ่มต้นที่ 1.5 และ 1.6 เมตร หรือขนาดสั่งพิเศษจะมีหน้ากว้างสูงสุดถึง 2.0M ทั้งผ้าซิลิก้าและผ้าเซรามิคจะมีน้ำหนักค่อนข้างใกล้เคียงกัน แต่จะมีความหนาผ้าต่างกันอย่างชัดเจน โดยผ้าซิลิก้าจะมีความหนาที่ 0.7mm 1.3mm 1.5mm 1.8mm และ 2.0mm ส่วนผ้าเซรามิคนั้นมีความหนาเริ่มต้นที่ 3.0mm และ 5.0mm ตามลำดับ

• สีของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟจากผ้าซิลิก้าจะมีทั้งสีขาว (ไม่เคลือบ) สีน้ำตาล (เคลือบเวอร์มิคูไลท์) และสีเทา (Alufix) ส่วนผ้าเซรามิคจะมีเฉพาะสีขาว ทั้งแบบเสริมลวดและไม่เสริมลวด

• ราคาของผ้ากันไฟ

ผ้ากันไฟในกลุ่มนี้แบ่งระดับราคาตามแหล่งที่มาออกเป็นสองกลุ่มคือ จากเอเชียและจากยุโรป ราคาต่อหน่วยจึงแปรผันตรงกับอัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในแต่ละครั้งที่มีการนำเข้า

Comments are closed.